ข้อเสนอจาก TDRI คือให้เพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 800-1,500 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยลดช่องว่างรายจ่ายที่แต่ละครัวเรือนใช้ดูแลเด็กเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด และเสนอให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนตามระดับเงินเฟ้อโดยอัตโนมัติ เพื่อรักษาความสามารถในการซื้อของเงินอุดหนุนที่ครอบครัวเด็กยากจนได้รับ
อย่างไรก็ตาม การกระจายเงินอุดหนุนนี้สู่เด็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า (universal) อาจยังไม่เพียงพอ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า การจัดสรรสวัสดิการดังกล่าวยังมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ ทำให้กลุ่มเด็กเปราะบางไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงออกแบบข้อเสนอให้จัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) หรือการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขแก่เด็กยากจนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กยากจนและยากจนพิเศษ ดังนี้
1) จัดระบบการให้ความรู้และการอบรมแก่พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก และการให้คำปรึกษารายครอบครัว เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมัครและเบิกจ่ายเงิน สำหรับครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยพิการ และเบี้ยช่วยเหลืออื่นๆ (เช่น เงินอุดหนุนเด็กไร้ที่พึ่ง เด็กกำพร้า เป็นต้น) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพ่อแม่และครอบครัวผู้มีรายได้น้อย จะมีโอกาสได้รับความรู้ ทัศนคติ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง
2) แจกหนังสือนิทานแก่เด็กและครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนและเบี้ยช่วยเหลือทุกคน พร้อมให้ความรู้และคำอธิบายถึงแนวทางการใช้นิทานเป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
3) มีกระบวนการติดตามและประเมินผลการเลี้ยงดูเด็ก ให้คำปรึกษารายครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์และปัญหาของแต่ละครอบครัว และให้การช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
