พ.ศ. 2563 ธนาคารโลกเสนอรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI) เป็นตัวชี้วัดระดับทุนมนุษย์ (ผลิตภาพ ทักษะ ความสามารถ ฯลฯ) ที่คาดว่าเด็กแรกเกิดแต่ละคนพึงมี เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าระหว่าง 0 และ 1 และดัชนีนี้จะมีค่าเท่ากับ 1 ได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ที่เกิดในประเทศนั้นมีสุขภาพสมบูรณ์ เช่น ไม่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น (stunting) และคาดว่าจะมีอายุขัยอย่างน้อย 60 ปี และสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพ โดยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเวลา 14 ปี
รายงานธนาคารโลกฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีทุนมนุษย์ 0.61
นั่นหมายความว่า เด็กที่เกิดและเติบโตในไทยในวันนี้จะสร้างผลิตภาพเพียงร้อยละ 61 ของศักยภาพที่มี หากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่
ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ (ร้อยละ 88) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 80) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 80) หรือเวียดนาม (ร้อยละ 69)

ศักยภาพที่สูญหายของเด็กไทยยิ่งถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศให้กว้างขึ้น เด็กที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพจะสร้างปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ ออกจากการเรียนกลางคัน ท้องก่อนวัยอันควร เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่มีวุฒิการศึกษา กระทบต่อการหางานที่มีค่าตอบแทนสูง
ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อตัวเด็กและครอบครัว แต่ยังลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกในระยะยาว