ทักษะพื้นฐานของแรงงานยุคใหม่

แม้ทักษะพื้นฐาน (foundational skill) ตามคำนิยามของธนาคารโลกจะดูธรรมดาจืดชืด แต่ผลการศึกษาเผยให้เห็นสัจธรรมแล้วว่า ‘สูงสุดคือสามัญ’

โคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก เริ่มพาเราทำความเข้าใจจากความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน PISA (Programme for International Student Assessment) และตัวแปรความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ตัวอย่างที่โคจิยกมาคือ งานศึกษาในแคนาดาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (2015) ที่เผยว่า กลุ่มตัวอย่างอายุ 25 ปี ที่มีคะแนนข้อสอบ PISA เมื่อครั้งวัย 15 ปี มีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาสูงถึง 50-60 เปอร์เซนต์ กล่าวคือ ทักษะการอ่านเขียนที่ดี จะส่งผลต่อการเรียนต่อและเรียนจบในระดับสูง อีกหนึ่งคำยืนยันถึงความสำคัญของทักษะอ่านเขียนก็คือ ผลสำรวจแรงงานในช่วงอายุ 35-54 ปี ใน 32 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ระบุว่า หากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวแปรทักษะการอ่านเขียนเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะมีรายรับเพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่การศึกษาระยะยาวในสวิตเซอร์แลนด์ (2015) ชี้ว่า ทักษะการอ่านเขียนยังสัมพันธ์กับสุขภาพ กล่าวคือ ยิ่งมีคะแนนทักษะอ่านเขียนมากขึ้น ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจะน้อยลง และมีพฤติกรรมก่อกวนสังคมลดลงอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่องของ RICE (The Research on Improving Systems of Education) (2020) ค้นพบว่า เด็กในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะพื้นฐาน ฉะนั้น การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้เสียใหม่จึงมีความจำเป็น เพื่อเพิ่มพูนทักษะขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ ‘การศึกษา’ ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลังอย่างแท้จริง