ในโลกปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไปไกล ประกอบกับการเข้ามามีบทบาทของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกหน่วยของสังคมโลกเชื่อมต่อถึงกันได้เพียงปลายนิ้ว ‘ภาษาอังกฤษ’ จึงนับเป็นกุญแจสำคัญของการสื่อสารในยุคสมัยนี้ ทั้งเพื่อการเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโลก และเป็นการเปิดประตูสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ แน่นอนว่าภาคการศึกษาก็ต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมด้วยการเพิ่มทักษะภาษาให้ครูและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน
Equity Opportunity Day ปีนี้ Equity Lab โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture เปิดบ้าน กสศ. ต้อนรับนวัตกรที่สนใจก่อร่างนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โจทย์ครั้งนี้คือ ‘นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับชีวิตประจำวันให้กับครูในพื้นที่ห่างไกล’ มุ่งเป้าหมายที่กลุ่มนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น และอาจารย์มหาวิทยาลัยในการถ่ายทอดเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษาของเรา
บรรยากาศในงานมีนวัตกรด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ที่สนใจโจทย์นี้เข้าร่วมจำนวนมาก เราชวนนักศึกษาและอาจารย์จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มาปล่อยข้อมูลแบบ Insight ให้เข้าใจถึงปัญหาเบื้องลึกเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้เหล่านวัตกรได้ฟังและสัมภาษณ์เพิ่มเติมผ่านวงสนทนา Insight Corner








บทความนี้เราจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับผู้คนส่วนหนึ่งที่มีไอเดียน่าสนใจ ก่อนจะพัฒนาไปสู่นวัตกรรมทางการศึกษาเต็มรูปแบบ เพื่อนำมาตอบโจทย์ที่แต่ละคนได้รับไปในครั้งนี้
“ก่อนจะให้เขาเรียนอะไร เราควรรู้ศักยภาพของเขาก่อน”
ธีรเดช ศุภธีรสุพงศ์ จาก ยินดีคอร์ป เขาทำงานเกี่ยวกับเยาวชน และมีความเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน เขาบอกเราว่าโจทย์ในครั้งนี้เป็นโจทย์ที่ตรงกับเป้าหมายหลักที่เขากำลังจะทำพอดี นั่นคือ ‘ค่ายภาษาอังกฤษ’ ทำให้เขารู้สึกมีแรงบันดาลใจต่อโจทย์ดังกล่าวมาก
จากข้อมูลที่ได้รับจากนักศึกษาผู้ร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ในวง Insight Corner ทำให้เขามองเห็นและรับทราบถึงปัญหาของครูในโครงการนี้ว่าสิ่งที่ยังขาดไปคืออะไร เขาจึงนำโจทย์นี้ไปประยุกต์ใช้กับโครงการที่กำลังจะทำต่อไป

ไอเดียของเขาคือ การสร้างแบบทดสอบหาความถนัดของแต่ละคน
“ก่อนที่เราจะให้เขาเรียนอะไร เราควรจะรู้ศักยภาพของเขาก่อน นวัตกรรมของเราคือนวัตกรรมเพื่อค้นหาความถนัดเบื้องต้นของเขา ว่าเขาถนัดอะไร ด้านไหน เราจะได้ส่งเสริมถูกต้อง โดยเรามีนวัตกรรมนี้เป็นแบบทดสอบ
“ในแบบทดสอบจะมีการประเมินว่าคนนี้ถนัดด้านไหน ด้านภาษา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านตรรกะ ด้านการออกกำลังกาย การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ หลังจากนั้นก็จะส่งเสริมทักษะให้ตรงกับความถนัดที่เขามี”
สำหรับกระบวนการเพื่อให้เยาวชนทุกคนได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง แบ่งเป็น 4 กระบวนการ คือ ค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ เสริมทักษะที่เหมาะสม และเปิดพื้นที่ Sandbox เพื่อให้เขาได้มาทดลองและหาตัวเอง
“เราอยากให้นักศึกษามองเห็นความสนุกของภาษาอังกฤษ”
ตักวา เกตุเลขา และ จิรัชญา ทนทาน นักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า โจทย์ในครั้งนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะจากข้อมูลที่พวกเขาได้รับฟังมา พบว่าปัญหาภาษาอังกฤษจากนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น บางส่วนมาจากทัศนคติต่อวิชาภาษาอังกฤษที่ไม่ดีของตัวนักศึกษาเอง เช่น อาจเคยโดนครูวิชาภาษาอังกฤษลงโทษ ทำให้ไม่ชอบภาษาอังกฤษ
“ความยากคือเราต้องไปแก้ที่ตัวประสบการณ์ของนักศึกษา”

จากปัญหาที่พบ พวกเขาจึงเกิดไอเดียที่จะทำนวัตกรรมออกมาเป็นบอร์ดเกม
“เราอยากให้ตัวนักศึกษามองเห็นความสนุกของภาษาอังกฤษก่อน เรารู้สึกว่าบอร์ดเกมเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย และเข้าถึงได้กับทุกคน เพราะพอได้ยินคำว่าเกม ก็ทำให้รู้สึกว่าน่าเล่นแล้ว”
พวกเขาเสริมว่า ข้อมูลที่ได้รับฟังมาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ นักศึกษามีความรู้สึกเบื่อในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความเบื่อหน่ายในการทำการบ้านและแบบฝึกหัด ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะช่วยได้ก็คือความสนุก
ประกอบกับข้อมูลอีกชุดที่ได้รับรู้มาคือ ปัญหาการเข้าไม่ถึงไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต พวกเขาจึงคิดนวัตกรรมออกมาเป็นบอร์ดเกม ซึ่งไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรืออินเทอร์เน็ต สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา และตัวนักศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ยังสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากบอร์ดเกมดังกล่าว รวมถึงนำไปปรับใช้กับนักเรียนได้ด้วย
“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า พื้นที่ที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นไปทำงานด้วยนั้น จะเป็นพื้นที่ชายขอบขนาดนี้ คือไม่มีทั้งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต ทำให้เราคิดนวัตกรรมออกมาเป็นบอร์ดเกม เพราะบอร์ดเกมไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่สามารถทำออกมาเป็นสื่อสำเร็จรูปให้เขานำไปใช้งานได้ รวมถึงนำไปใช้สอนเด็กนักเรียนด้วยก็ได้”
“ภาษาอังกฤษไม่แข็ง ไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวผู้เรียน แต่หมายถึงตัวผู้สอนด้วย”
ศรัญญา ศิริรัตน์ จาก ไอเซค แห่งประเทศไทย (AIESEC in Thailand) ซึ่งเป็นองค์กรที่เยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยมาทำงานร่วมกัน เธอบอกกับเราว่า โจทย์ในครั้งนี้มีความน่าสนใจและท้าทาย เพราะ AIESEC เองก็มีค่านิยมหลักขององค์กรในเรื่องของการสื่อสารว่า จะทำอย่างไรให้คนที่มาจากต่างประเทศ หรือคนที่มีภูมิหลังทางภาษาไม่เหมือนกัน สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ ซึ่งภาษาอังกฤษถือเป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้คนมาแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันได้ และเป็นสิ่งหนึ่งที่ AIESEC ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ศรัญญา บอกว่าเธอไม่ค่อยมีโอกาสนักที่จะได้รับรู้ข้อมูลเบื้องลึกของตัวผู้เรียนโดยตรง ว่ารู้สึกอย่างไร มีปมปัญหาอะไรในเรื่องการศึกษาหรือการใช้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียน รวมถึงได้เห็นมุมมองจากตัวอาจารย์ผู้สอนเอง ว่าต้องพยายามมากแค่ไหนในการจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของนักเรียนแต่ละคน อุปกรณ์ หรือหลักสูตรที่อาจไม่เอื้อต่อผู้เรียน เมื่อได้รับทราบสภาพปัญหาจากทั้งฝั่งครูและนักศึกษา ทำให้ศรัญญาพยายามคิดหานวัตกรรมที่จะเป็นทางออกที่เหมาะสมต่อเรื่องนี้
“ปัญหาเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ว้าวทุกครั้งที่ได้ยิน เพราะมีบุคลากรมากมายที่กำลังจะเข้าสู่การทำงานในระบบการศึกษา ซึ่งเขาต้องการพัฒนาตัวเอง แต่ก็มีทรัพยากรที่จำกัด”

นวัตกรรมที่ AIESEC คิดขึ้นมาคือ การแลกเปลี่ยน เธอบอกว่า แม้วิธีการนี้อาจไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามทำมาตลอด โดยจะเป็นการเปิดรับชาวต่างชาติมาสอนหนังสือในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมมักจะเป็นการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชั้นประถมหรือระดับมัธยมต้น แต่สำหรับโจทย์นี้เธอคิดว่า การเพิ่มทักษะให้แก่ครูก็สำคัญไม่แพ้กัน
“พอเราเจอโจทย์นี้ สิ่งที่ต้องโฟกัสมากๆ คือครูผู้สอน การที่ภาษาอังกฤษไม่แข็ง ไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวผู้เรียน แต่หมายถึงตัวผู้สอนเองด้วย เขาอาจไม่มีความสามารถมากพอในการสอน เราจึงอยากเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยเชิญชวนชาวต่างชาติที่เรามีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ให้มาช่วยพัฒนาหรือส่งเสริมทักษะด้านภาษาให้กับครูไทย”
“บางครั้งนักศึกษาอาจใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลัก ทำให้การเรียนการสอนยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิพร พงศ์เพลินพิศ อาจารย์สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมคิดค้นนวัตกรรมครั้งนี้ เพราะตรงกับสาขาที่เธอเรียนและสอดคล้องกับสิ่งที่ทำอยู่ เธอคิดว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจากวง Insight Corner นั้นมีประโยชน์มาก แม้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะไม่มีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่ก็ทำให้เธอสามารถนำเสียงสะท้อนจากโครงการนี้ไปปรับใช้กับนักศึกษาได้ โดยเฉพาะนักศึกษาในสาขาวิชาปฐมวัย
ศศิพรมองว่า ไม่เพียงภาษาอังกฤษจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนเท่านั้น สำหรับตัวนักศึกษาเองบางครั้งก็ประสบปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากบางคนใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร
“บางทีเราลืมนึกไปว่าจริงๆ แล้ว ตัวนักศึกษาเองอาจใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลัก ทำให้การเรียนการสอนยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยภาษาอังกฤษอาจกลายเป็นภาษาที่สาม สี่ หรือห้า กว่าจะฝ่ากำแพงแต่ละภาษาไปได้ มันมีหลายระดับมากเลย กว่าที่จะทำให้เขาเก่งภาษาอังกฤษได้”

ไอเดียนวัตกรรมของศศิพร คือ Project-based language learning ซึ่งมีต้นแบบมาจากบอร์ดเกม โดยจะนำนักศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มาร่วมออกแบบเกม จุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน และหลังจบเวิร์กช็อปแล้วก็สามารถนำบอร์ดเกมนี้ไปใช้สอนต่อไปได้ รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางในการสื่อสารภาษาอังกฤษในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้เกิดห้องเรียนสองภาษาโดยอัตโนมัติ
“สร้างบรรยากาศการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ฝึกพูดในเรื่องที่ตัวเองชอบ”
วิญญู ศรีศุภโชค จากโครงการ Volunteer English Bangkok (VOLUNTIST) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย เน้นไปที่การสร้างบรรยากาศภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เขาบอกว่าโจทย์ในครั้งนี้ ตรงกับภารกิจของทางโครงการอยู่แล้ว และจากข้อมูลที่ได้รับมา ทำให้เขามั่นใจว่า สิ่งที่ตนได้พบเจอมาก็เป็นปัญหาเดียวกันของใครหลายคน
แต่สิ่งที่ใหม่สำหรับเขาก็คือ การได้รู้ว่า นอกจากนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้จะต้องเรียนและฝึกสอนแล้ว ยังต้องฝึกวิชาชีพเพื่อการดำรงชีวิต และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

นวัตกรรมของวิญญูสอดคล้องกับสิ่งที่เขาทำและเชื่อมาโดยตลอด นั่นคือ “สร้างบรรยากาศการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ให้คนได้ฝึกพูดในเรื่องที่ตัวเองชอบ หรือทำงานที่เขาชอบ เช่น เล่นกีฬา ทำสวนผัก โดยใช้ภาษาอังกฤษไปด้วย แล้วทักษะของเขาก็จะดีขึ้นเอง”
“หากครูก้าวผ่านขีดจำกัดทางภาษาไปได้ จะสามารถพัฒนาทั้งครูและนักเรียนได้อย่างมหาศาล”
อมรรัตน์ นาคเสนา CEO และผู้ก่อตั้ง Uniclass บริษัท Ed-tech ซึ่งมีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีประสบการณ์ด้านการสอน 1:1 และสอนเป็นกลุ่มมากว่า 10 ปี มีฐานคุณครูอยู่ประมาณ 15,000 คน และมีนักเรียนกว่า 5,000 คน
อมรรัตน์มองโจทย์ในครั้งนี้ว่า ภาษาอังกฤษเป็นด่านหนึ่งที่ครูทุกคนต้องผ่านให้ได้ เพราะไม่ว่าจะสอนวิชาอะไร ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขัดเกลาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่อาจต้องสอนหลายวิชา
“ภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งวิชาที่หากทำได้แล้วก็จะได้ตลอดไป ถ้าเราช่วยให้ครูก้าวผ่านขีดจำกัดทางภาษาไปได้ จะสามารถพัฒนาทั้งครูและนักเรียนได้อย่างมหาศาลในอนาคต”

การได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ทำให้เธอมองเห็นภาพรวมมากขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดในสิ่งที่เธอทำได้ต่อไป และในฐานะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการศึกษา ข้อมูลต่างๆ ที่เธอได้รับรู้รับทราบในครั้งนี้ ทั้งเรื่องการขาดอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก็ทำให้เธอเข้าใจว่าสำหรับการเรียนบางรูปแบบ เช่น การเรียนออนไลน์ อาจยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ ทำให้เธอต้องมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อจะนำมาใช้แก้ปัญหา
ไอเดียนวัตกรรมของอมรรัตน์มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ แบ่งเป็นระยะยาวและระยะสั้น แบบแรกคือ ‘การสร้างแพลตฟอร์ม’ เนื่องจากเธอมองว่า วิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เธอจึงอยากสร้างแพลตฟอร์มให้เด็กได้ฝึกทักษะต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะแบ่งออกเป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน และยังแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตามความสามารถของเด็ก
เป้าหมายของอมรรัตน์คือ การทำให้เด็กกล้าใช้ภาษาอังกฤษผ่านการสอนเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยมีครูผู้สอนเป็นครูชาวต่างชาติหรือครูไทยก็ได้ หากเป็นครูต่างชาติก็อาจเน้นเรื่องการฟัง-พูด ส่วนทักษะอ่าน-เขียนอาจให้ครูไทยช่วยสอนได้
“เด็กสามารถจะเลือกได้ว่าเขาอยากเรียนอะไร อันไหนตอบโจทย์เขาได้ เมื่อการเรียนภาษาคือการเรียนรู้แบบ Customized learning และ Lifelong learning ทำให้เชื่อมั่นว่า platform จะตอบโจทย์นี้ได้”
แบบที่ 2 คือ English Camp ซึ่งอมรรัตน์คิดว่า สามารถเปลี่ยนเด็กได้ในระยะสั้น และรวดเร็ว
“การทำค่ายภาษาอังกฤษ จะทำให้เด็กกล้าที่จะทะลุข้อจำกัดของตัวเอง และไปได้ไกลกว่านี้”
ทั้งหมดนี้คือไอเดียเบื้องต้นของเหล่านวัตกรที่จะมาร่วมกันค้นหาช่องทางใหม่ๆ ในการเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยหลังจากนี้ เหล่านวัตกรจะนำนวัตกรรมของตนเองในหัวข้อดังกล่าวมานำเสนอต่อ Equity Lab กสศ. และ Disrupt Technology Venture อีกครั้ง โดย 3 ทีมที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุน 100,000 บาท เพื่อนำไปใช้พัฒนานวัตกรรมต่อไป
นวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือก จะเป็นนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบและสามารถสร้างความยั่งยืนได้ ไม่ใช่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาเพียงมิติใดมิติหนึ่ง โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1) Solution/Product ต้นแบบ (prototype) ของนวัตกรรมต้องมีความชัดเจนและตอบโจทย์ปัญหา (pain point) จากผลสำรวจและความต้องการของครูรัก(ษ์)ถิ่น 2) Target Market เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และนวัตกรรมมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว 3) Impact สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม รวมถึงมีตัวชี้วัดนวัตกรรมในด้านผลกระทบทางสังคมอย่างชัดเจน และ 4) Sustainable นวัตกรรมมีความยั่งยืน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้