ช่วงปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี) คือรากฐานสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโต พัฒนาการต่างๆ ของเด็กจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวัยนี้ ตั้งแต่พัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ภาษา และทักษะทางสังคม
เด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้น ในทางกลับกัน หากเด็กไม่ได้รับการดูแลในช่วงปฐมวัยอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
เด็กเล็กที่ไม่ได้รับการดูแลจะโตไปเป็นวัยรุ่นที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ มีโอกาสอย่างมากที่จะพัฒนาการล่าช้า สติปัญญาไม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และเข้าสังคมไม่เก่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ขาดทักษะที่จำเป็นแก่การหาเลี้ยงชีพ หรือกระทั่งอาจมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมได้
นโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องลงทุน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะหากไม่มีการไม่ลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ช่วงวัยนี้ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว ซึ่งจะย้อนกลับมาเป็นค่าเสียโอกาสหรือภาระที่รัฐและสังคมต้องร่วมแบกรับในอนาคต
สถานการณ์ปัญหาสุขภาพของเด็กปฐมวัยไทย
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันประเด็นการพัฒนาเด็กปฐมวัยกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ มีหน่วยงานของรัฐดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และตั้งเป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยแนวทาง ‘4H’ คือ Health (แข็งแรง) Head (เก่ง) Hand (มีทักษะ) และ Heart (ดี มีวินัย) และมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กปฐมวัยหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
แม้กระนั้น ยังมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากขาดการดูแลและการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ เปราะบาง และด้อยโอกาส จนก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเจริญเติบโตจากภาวะโภชนาการบกพร่อง ปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือปัญหาคุณภาพการเลี้ยงดูของพ่อแม่
กล่าวเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพ เด็กปฐมวัยในประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทุพโภชนาการ (malnutrition) 2 ด้าน ได้แก่ ภาวะเตี้ยแคระแกร็น (stunting) และภาวะน้ำหนักเกิน (obesity) จากการได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อย (น้อยกว่า 2,500 กรัม) ยังมีสัดส่วนมากถึง 9.5 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่มีภาวะเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ในอนาคต
ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 หรือ Multi-Indicator Cluster Survey 6 (MICS6) พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น 13.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ (17 เปอร์เซ็นต์) และน่าตกใจว่าในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 เดือน ถึง 23.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินถึง 9 เปอร์เซ็นต์ โดยเด็กที่เกิดในครอบครัวรายได้สูงและแม่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะอ้วนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นถึง 11.2 เปอร์เซ็นต์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ปัญหาทุพโภชนาการและภาวะโภชนาการเกินเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมในระดับครอบครัว พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูยังไม่สามารถดูแลเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสม อาจเพราะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลเด็ก โดยเฉพาะความรู้ด้านโภชนาการ ซึ่งเกี่ยวพันกับการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้จากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
ยิ่งกว่านั้น ปัญหาทุพโภชนาการยังอาจถูกซ้ำเติมจากการขาดรายได้ในการหาซื้ออาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลใน MICS6 กสศ. พบว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น (15-19 ปี) สูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มยากจนที่สุดมีอัตราการมีบุตรสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า แม่จำนวนมากไม่สามารถดูแลตัวเองและลูกได้อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ต่อเนื่องจนหลังคลอด
ดังนั้น เด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนจึงมีแนวโน้มเผชิญภาวะทุพโภชนาการหนักหนากว่า และเด็กยากจนที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่จะยิ่งได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างเช่นเด็กเหล่านี้จะมีแนวโน้มได้กินนมแม่น้อยลง เป็นต้น
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า การกินนมแม่สัมพันธ์กับภาวะทุพโภชนาการอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต จะช่วยป้องกันเด็กจากการติดเชื้อ น้ำนมแม่ยังเป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังประหยัดและปลอดภัย
กรมอนามัย กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำในการให้ทารกกินนมแม่ ดังนี้
1) เด็กทารกควรได้รับนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
2) เด็กทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 เดือน
3) เด็กควรกินนมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ควบคู่กับการบริโภคอาหารที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ดี และลดโอกาสเกิดภาวะเตี้ยแคระแกร็น
แต่จากข้อมูลใน MICS6 ยังพบว่า มีเด็กที่เริ่มกินนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดเพียง 34 เปอร์เซ็นต์ และแม้สัดส่วนของเด็กที่ได้รับนมแม่ภายในวันแรกหลังคลอดจะเพิ่มเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ WHO แนะนำ โดยเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีรายได้สูงและแม่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มจะได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ มากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนและแม่มีการศึกษาต่ำ ซึ่งมีอัตราการให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวเพียง 5.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทั้งนี้ มาตรการดูแลหลังคลอดที่ WHO แนะนำยังรวมถึงการโอบกอดลูกแนบผิวกายตั้งแต่แรกคลอด เพื่อเสริมสร้างความผูกพันและช่วยสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสม แต่ปรากฏว่าในไทยมีแม่เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการกระตุ้นจากบุคลากรสาธารณสุขให้โอบกอดลูกตั้งแต่แรกคลอด อีกทั้งส่วนใหญ่ก็เป็นบริการสำหรับโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงครอบครัวยากจนที่อยู่ห่างไกลหรือมีเวลาน้อย
เมื่อแม่ไม่ได้รับการกระตุ้นให้รู้จักวิธีการเลี้ยงดูบุตรอย่างเพียงพอ จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกเกิดของเด็กไทยจะต่ำมากเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าปี พ.ศ. 2558 อีกด้วย ที่มีอัตราการกินนมแม่อย่างเดียว 23 เปอร์เซ็นต์
ข้อเสนอนโยบายสุขภาพเด็กปฐมวัย
เด็กปฐมวัยทุกคนจะมีโอกาสเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ก็ต่อเมื่อเติบโตในครอบครัวที่เอื้ออำนวย ในสังคมที่สนับสนุน และในประเทศที่มีนโยบายที่ชัดเจน มีคุณภาพ นำไปปฏิบัติได้จริง และครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม
กสศ. เสนอนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้ครอบครัวและเด็กทั้งในกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ดังนี้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ มีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ตลอดช่วงตั้งครรภ์ การคลอดในสถานบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีการดูแลหลังคลอดที่สนับสนุนให้แม่สามารถเริ่มให้ลูกกินนมแม่ได้ทันทีหลังคลอด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งเสริมให้เด็กได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามวัย ตลอดจนการได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างครบถ้วน (อาทิ วัณโรค คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ หัด ตับอักเสบชนิดบี โรคติดเชื้อฮิบชนิดบี โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ไวรัสโรตา และหัดเยอรมัน)
กสศ. ยังเสนอให้จัดบริการสุขภาพ โปรแกรมให้ความรู้โดยเฉพาะ หรือโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการเลี้ยงลูกแก่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก อาทิ การใช้เวลาและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กผ่านการเล่นอย่างอิสระและการเล่นของเล่นตามวัย การเล่านิทานและอ่านหนังสือกับเด็ก การคัดกรองพัฒนาการเด็กอย่างสม่ำเสมอ การดูแลเลี้ยงดูโดยใช้วินัยเชิงบวก การแสดงความรักความเอาใจใส่แก่เด็ก และการไม่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ
ทั้งนี้ ช่องทางการเผยแพร่ความรู้ควรมีความหลากหลาย และเข้าถึงพ่อแม่ได้มากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ และขยายขอบเขตความรับผิดชอบในการให้ความรู้แก่พ่อแม่ จากบุคลากรสาธารณสุขไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และคนในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะท้องถิ่นและชุมชนควรมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว จนไม่มีเวลามากนัก ตลอดจนสนับสนุนให้หน่วยงานและบริษัทต่างๆ มี ‘นโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว’ เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมควบคู่กับการทำงานเต็มศักยภาพ เช่น การให้สิทธิลาคลอดทั้งพ่อและแม่ หรือการสนับสนุนการให้นมแม่ในสถานประกอบการ (breastfeeding in workplace) ส่วนครอบครัวที่ไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตร ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อจัดหาบริการผู้ดูแลเด็กในบางเวลาหรือทดแทนพ่อแม่อย่างถาวร
หากพัฒนาการในช่วงปฐมวัยคืออิฐก้อนสำคัญที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวัยรุ่น และความพร้อมที่จะเข้าสู่วัยทำงานอย่างมีศักยภาพ การพัฒนาสุขภาพของเด็กปฐมวัยจึงเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของชีวิต
ที่มา
- ข้อเสนอนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562