ในระยะ 3 ปี จากนี้ ชะตากรรมของเด็กนอกระบบการศึกษาควรเป็นอย่างไร
โรคระบาดโควิด-19 ปัญหาการศึกษาที่คาราคาซัง ปัญหาครัวเรือน ปัญหาปากท้อง ฯลฯ ล้วนเป็นสาเหตุที่ดีดเด็กกระเด็นออกนอกรั้วโรงเรียน บ้างเบนหน้าสู่ชีวิตแรงงาน บ้างถูกผลักสู่รั้วเรือนจำ บ้างอยู่บ้านเลี้ยงลูกน้อย ชะตากรรมทำนองนี้ยังเกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คน ควบคู่ไปกับการถกเถียงเพื่อหาทางออกของปัญหาการศึกษาที่ยากจะจับต้นชนปลาย
14 กุมภาพันธ์ 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวที ‘ระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ โดยดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและชุมชน
กระบวนการจัดออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเป็นการเสวนาสรุปภาพรวมการทำงานจากฝ่ายนักวิชาการ ช่วงหลังเป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นตามโจทย์ ‘ภาพฝัน’ ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่อยากเห็นภายใน 3 ปี พร้อมวิธีการจัดการ แนวทาง และข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม
ข้อท้าทายที่หลากหลายในมุมมองคนทำงานการศึกษา
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวเปิดงานว่า ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กสศ. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบในวัย 15-24 ปี มีโมเดลในการทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ระบบราชการควรยืดหยุ่นและขยับขยายโครงสร้างการทำงานของราชการไปสู่พื้นที่ชุมชนมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า การศึกษาทางเลือกและการจัดศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชนจะเป็นทางออกสำคัญของเด็กนอกระบบการศึกษา

ข้อเสนอจากนักวิชาการต่อการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ มองว่า ปัญหาการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กหลุดออกจากระบบเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก และรากของปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นในอดีตก่อนหน้านั้น
ถึงอย่างไร หากมองทิศทางในอนาคตของเด็กนอกระบบการศึกษา การวิเคราะห์แนวโน้มหรือ ‘Mega Trend’ จึงเป็นข้อเสนอหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเยาวชนนอกระบบการศึกษา

ดร.สมชัย ชี้ว่า Mega Trend แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1) Threat หรือแนวโน้มความท้าทายและความเสี่ยงของประชากรบางกลุ่ม เช่น เด็กในครอบครัวรายได้น้อยที่สุด 40 เปอร์เซ็นต์ล่าง เยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education or Training) และครอบครัวแหว่งกลาง (เด็กที่เติบโตจากการเลี้ยงดูของรุ่นปู่ย่าตายาย) ภายใต้บริบทความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเด็กในครอบครัวยากจนก็ดี เด็กจากครอบครัวแหว่งกลางก็ดี หรือกระทั่งเด็กที่เรียนจบมหาวิทยาลัยก็ดี มีแนวโน้มมีทักษะไม่ตรงโจทย์กับตลาดแรงงานในอนาคตที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2) Opportunity หรือแนวโน้มของโอกาส ดร.สมชัย มองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มีด้านบวกเช่นกัน แต่จะปรับใช้กับปัญหาเด็กออกนอกระบบได้อย่างไร เช่น การผลักดันให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้การใช้งาน ‘ChatGPT’ (ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้ตามข้อมูลที่ถูกผู้ใช้งานป้อนให้) หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ในการพัฒนาตัวเอง ในทางหนึ่งคือช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอย่างมหาศาล รวมถึงสร้างโอกาสทางการศึกษาของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าควรรับฟัง หรือใช้ประโยชน์จากพลังการเปลี่ยนแปลงในตัวคนรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนเป็นอนาคตที่ผู้ใหญ่ไม่ควรปิดกั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา ภูละออ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความต่อไปว่า เด็กในกลุ่ม NEET ไม่ใช่แค่เยาวชนนอกระบบเสียทีเดียว แต่เป็นกลุ่มที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย เพียงแต่อยู่นอกระบบการจ้างงานหรืออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่กำลังรอการตัดสินใจบางอย่างเท่านั้น ซึ่งการเพิ่มช่องทางหรือโอกาสให้คนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้รับการอบรม หรือการศึกษา จะทำให้ได้เด็กที่มีศักยภาพกลับเข้าสู่ระบบ
เนื่องจากเด็กกลุ่ม NEET มีความหลากหลายทางประชากร เช่น กลุ่มเด็กพิการ เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ชนกลุ่มน้อย เด็กในสถานพินิจ เด็กผู้ยากไร้ หรือกระทั่งเด็กที่ต้องการหยุดพัก ด้วยเหตุนี้จึงมีความท้าทายร่วมบางประการ ได้แก่
- การปรับทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการเหมารวม
- การคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิ สุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม
- การเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ระบบสาธารณสุข โครงข่ายคมนาคม ฯลฯ
- การมีตัวตนที่ซับซ้อนของเด็กนอกระบบ ทำให้มีความท้าทายเฉพาะในเด็กแต่ละกลุ่ม
ข้อสังเกตของ รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา คือ มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนเพียงบางพื้นที่ ขณะที่อีกหลายพื้นที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมนโยบายแบบมีส่วนร่วม โดยมีข้อเสนอคือ ต้องมีความชัดเจนทางนโยบายในระยะยาว ส่งเสริมระบบประสานความร่วมมือระหว่างการจ้างงาน การศึกษา และการฝึกอบรมในระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง
ยกระดับ-พัฒนาครูนอกระบบการศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความหลากหลายของคนทำงานด้านการศึกษากับเด็กนอกระบบว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนจากหลายองค์กร อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มนวัตกรรมการเรียนรู้ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านในชุมชน และบัณฑิตจบใหม่

ในภาพรวม กลุ่มคนทำงานด้านการศึกษาและครูที่อยู่นอกระบบการศึกษาอาจไม่ได้ทำหน้าที่สอนเนื้อหาโดยตรง แต่ครูเหล่านี้จะทำหน้าที่ค้นหากลุ่มเป้าหมาย ลงพื้นที่ พูดคุยกับเด็ก สงเคราะห์ตามความต้องการขั้นพื้นฐาน ประสานงานกับผู้ที่ทำงานกับเด็ก ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้น การสนับสนุนครูเหล่านี้จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแก้ไขปัญหาการศึกษาด้านอื่น เช่น การยกระดับให้เป็นอาชีพที่ชัดเจน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (up-skill) ฟื้นฟูทักษะ (re-skill) หรือสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่าย และสวัสดิการให้กับคนทำงานจิตอาสา
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวเสริมถึงแนวทางการทำงานกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหาและต้องเผชิญความท้าทายของมายาคติจำนวนมาก เพราะเด็กนอกระบบมีหลายเฉดสี ดังนั้น คนทำงานต้องเป็นของจริง มีทักษะหลายด้าน มีจิตใจที่พร้อม ยืดหยุ่น อดทน และรับฟัง อีกทั้งต้องมีมุมมองในการตั้งคำถามต่อการออกแบบนโยบายและปัญหาของเด็กที่ซับซ้อน ที่สำคัญ ระบบการทำงานที่เอื้อต่อคนทำงานต้องไม่ใช่โครงสร้างแนวดิ่ง
ข้อเสนอสู่ภาพฝันที่ (อาจ) เป็นจริง
หลังเวทีสรุปภาพรวม ผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ทำการแบ่งกลุ่ม ระดมความคิด ถกเถียง ออกแบบ และนำเสนอสิ่งที่อยากให้เยาวชนกลุ่มนี้ไปถึงภาพฝันของการศึกษาได้สำเร็จภายใน 3 ปี
ภาพฝัน
- ต้องไม่มีเด็กนอกระบบภายใน 3 ปี ถ้ามี รัฐควรจัดการการศึกษาที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของเด็กกลุ่มนี้ และสังคมควรเปิดอกยอมรับเด็กนอกระบบ
- มีระบบสวัสดิการและระบบรองรับทั้งในและนอกระบบ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเป็นภาระของครอบครัวเพียงฝ่ายเดียว
- มีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น ควรมีกลวิธีจัดการเด็กแบบเฉพาะราย (case by case)
- ‘set zero’ ให้เด็กนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาปีที่ 3) เพราะเป็นวุฒิการศึกษาที่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
- เด็กควรเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีโอกาสทางการเรียนรู้ โดยมีฐานจากความต้องการของตนจริงๆ



กระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ค้นหาและรักษาเด็กให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้โดยตลอดรอดฝั่ง ภายใต้การออกแบบวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กและครู
- ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
- ภาครัฐควรสนับสนุนเชิงนโยบาย ภาคเอกชนและประชาสังคมรับผิดชอบด้านสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ ภาคชุมชนจัดทำข้อมูลเชิงลึกระดับท้องถิ่น (local data) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานภายในชุมชน
- แก้ไขปัญหาบนความต้องการที่แท้จริงของเด็ก เช่น สนับสนุนให้เด็กมีวุฒิการศึกษาเพื่อใช้สมัครงานได้ ผลักดันการพัฒนาทักษะอาชีพ และต้องเป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้เด็กสามารถเป็นได้มากกว่าลูกจ้างในอนาคต
- สื่อมวลชนควรเผยแพร่ข้อมูลแต่ละพื้นที่ เพื่อให้องค์ความรู้สามารถเข้าถึง เชื่อมโยง และถูกปรับใช้ได้
- สร้างโมเดลตำบลต้นแบบ กระตุ้นการทำงานเชิงรุกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างพื้นที่ทำงานและพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก หน่วยงานระดับท้องถิ่นอาจเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรและสามารถออกวุฒิการศึกษาในบางกรณีได้
- เชื่อมฐานข้อมูลของเด็กระดับจังหวัดจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การศึกษา (เรียนที่ไหน เรียนอะไร) การปกครอง (ข้อมูลทะเบียนราษฎร์) สาธารณสุข (ประวัติการรักษา) พัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ติดตาม ช่วยเหลือ พัฒนา) ด้วยกลไกเช่นนี้ เด็กจะไม่หลุดออกจากระบบฐานข้อมูล
- หัวใจสำคัญคือ การเชื่อมโยงกลไกการเรียนรู้จากต้นทุนภายในชุมชน เช่น ออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ภายในพื้นที่และผู้เรียน รวมถึงกระตุ้นกลไกที่มีอยู่ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกัน สร้างระบบความรู้ แบ่งปัน และยกระดับการทำงานร่วมกัน
ในเวทีระดมสมอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ หรือนักวิชาการอิสระ ล้วนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพฝันในอนาคตคือ ต้องไม่ทำให้เด็กคนใดหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกต่อไป และหากมีเด็กที่ไม่สามารถไปได้ต่อได้ สังคมก็ควรสลายเส้นแบ่งอคติลง เพราะการดึงเด็กคนหนึ่งกลับเข้าสู่ระบบ ไม่เพียงแต่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้ระบบนิเวศของสังคมพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย





ข้อสังเกตที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือ ประเด็นการจัดทำฐานข้อมูลในปัจจุบันที่มีความซ้ำซ้อน ขาดการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เช่น กรณีที่ชื่อเด็กคนหนึ่งปรากฏในหลายสถานศึกษา กระทั่งบางคนอาจเสียชีวิตไปแล้ว ฉะนั้น หากข้อมูลมีคุณภาพและอัปเดตอยู่เสมอ จะสามารถช่วยให้การทำงานด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ มีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานระดับจังหวัดอาจต้องเพิ่มบทบาทของตนในการกระจายข้อมูลจากกระทรวงสู่ระดับปฏิบัติงานมากขึ้น
ทั้งนี้ ใจความสำคัญจากการะดมความเห็นสามารถสรุปได้ว่า ในระยะสั้น แหล่งทุนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีทำงานในการช่วยเหลือเด็ก โดยต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่า ฝั่งฝันที่ต้องการส่งเด็กไปให้ถึงนั้นมีปลายทางอย่างไร เช่น ต้องการให้เด็กสามารถพึ่งพาตนเอง ต้องการให้เด็กทุกคนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือต้องการให้ 1 ใน 3 ของเด็กนอกระบบได้รับการจ้างงาน เพราะไม่เพียงจะช่วยให้ระดับปฏิบัติการมีแผนงานที่ชัดเจน แต่ยังทำให้แหล่งทุนสามารถออกแบบระบบการช่วยเหลือที่ชี้วัดระดับความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงได้
จะเห็นได้ว่าปัญหาเด็กนอกระบบมีความซับซ้อนและมีพลวัตเสมอ ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้หยาดเหงื่อ เม็ดเงิน และเวลาไม่น้อยในการส่งเด็กคนหนึ่งให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แหล่งทุนด้านการศึกษาจึงต้องร่วมกันลงทุนและร่วมกันทำงานเช่นเดียวกัน



ท้ายสุด ในระยะยาว ระบบการศึกษาควรปรับทิศทางให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สังคมทั้งสังคมควรเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ก้าวแรกที่สั่นสะเทือนโครงสร้างภาพใหญ่ได้ คือหน่วยงานด้านการศึกษาเอง จุดตั้งต้นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับตำบล ชุมชน หรือท้องที่ เรื่อยไปจนถึงระดับประเทศ และนำไปสู่การสลายเส้นแบ่งของคำว่า ‘ในระบบ-นอกระบบ’ ต่อไปในอนาคต