งบประมาณการศึกษากระจายไปไหนบ้าง

ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดในบรรดากระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ จำนวน 325,900 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 3,185,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมด

หากเทียบสัดส่วนการใช้จ่ายงบแล้ว จะพบว่า 62% คืองบของบุคลากรภาครัฐ 25% คืองบอุดหนุนทางการศึกษาหรือโครงการเรียนฟรี และ 13% คืองบนโยบาย

เมื่อจำแนกตามลักษณะรายจ่าย ได้แก่ 1) รายจ่ายประจำ 309,353 ล้านบาท 2) รายจ่ายลงทุน 16,546 ล้านบาท

จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ 1) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 204,023 ล้านบาท 2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 121,186 ล้านบาท และ 3) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 689 ล้านบาท

และหากจำแนกตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะแบ่งได้ดังต่อไปนี้

มาตรา 24 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกํากับ จํานวน 122,668 ล้านบาท

มาตรา 37 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนบูรณาการ ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จำแนกเป็น

  • แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 407 ล้านบาท
  • แผนบูรณาการเขตพัฒนาการพิเศษภาคตะวันออก 66 ล้านบาท
  • แผนบูรณาการต่อต้านการทุจริตและการประพฤติโดยมิชอบ 84 ล้านบาท
  • แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 101 ล้านบาท
  • แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 22 ล้านบาท

มาตรา 38 งบประมาณรายจ่ายสําหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐ งบประมาณรายจ่ายสำหรับบุคลากร 204,023 ล้านบาท

ข้างต้นเป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาจากภาครัฐ ซึ่งเป็นผลจากระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Performance Based Budgetting: SPBB) ที่ยึดยุทธศาสตร์รัฐบาลเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งน่าสนใจว่า งบประมาณจำนวนไม่น้อย ถูกใช้ไปอย่างไรบ้างเพื่อส่งเสริมการศึกษาไทย

ที่มา