หลังการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้เด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ถูกจำกัด แต่ความแตกต่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ ก็ทำให้การออกแบบแนวทางเพื่อโอบรับเด็กๆ ทุกคนยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
นี่จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ โดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 10 แห่ง ที่มีสัดส่วนเด็กยากจนพิเศษมากที่สุด เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่นพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและแก้ไขปัญหาหรือลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งได้จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘Kick off โครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้
ห้องปฏิบัติการทางสังคม เรียนรู้ชีวิตจริงของชุมชนด้วยกลไกท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงชัย ทองปาน อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วิลาวัณย์ หงษ์นคร นักวิชาการผู้ชำนาญการ วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการวิจัยในครั้งนี้ที่เน้นการปฏิบัติการ (action research) ทำงานร่วมกับ อปท. โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีสัดส่วนเด็กและเยาวชนยากจนพิเศษมากที่สุด ได้แก่ อบต.ตระกาจ และ อบต.ผักแพว จังหวัดศรีษะเกษ อบต.แม่สวด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลตำบลพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เทศบาลตำบลโกตาบารู จังหวัดยะลา เทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลเมืองตาก จังหวัดตาก เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อบจ.ศรีสะเกษ และ อบจ.นครราชสีมา
โจทย์ตั้งต้นของโครงการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับ อปท. ในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของท้องถิ่นในฐานะองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการบริการสาธารณะ จึงสามารถใช้ระบบงบประมาณ บุคลากร และดำเนินการเพื่อจัดการศึกษาได้อย่างมีเอกภาพ มีอิสระ ทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทางการศึกษากับปัญหาอื่นในชุมชนท้องถิ่นได้ เรียกได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาจากวิถีชีวิตจริงของชุมชน
งานวิจัยดังกล่าวสนับสนุนให้เกิดโครงการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา โครงการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ โครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเนื่องมาจากภาวะการเรียนรู้ถดถอย และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาค โดยจัดสรรให้เหมาะสมกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 15 กันยายน 2566
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า อธิบายภาพรวมปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งมีต้นตอมาตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นภายในครัวเรือนไปจนถึงระดับโรงเรียน โดยมีปัจจัยหลักอยู่ 2 ประเภท คือความเหลื่อมล้ำแนวตั้ง เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระดับประเทศ และความเหลื่อมล้ำแนวนอนซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่น การเกิดในครอบครัวยากจน ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา หรือผู้ที่มีภาวะพิการแต่กำเนิดทำให้เรียนรู้ในโรงเรียนทั่วไปได้ลำบาก ไปจนถึงการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาได้ยาก
“การสร้างความเสมอภาคต้องดีไซน์ไปตามปัญหาแต่ละพื้นที่ มองไปถึงมิติอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ในความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา แต่เริ่มตั้งแต่ปัญหาสุขภาวะของเด็กและครอบครัว”
ดร.ถวิลวดี มองว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตั้งแต่ระดับฐานรากผ่านการทำงานกับปัญหาโดยตรง ซึ่งต้องวิเคราะห์และออกแบบแนวทางตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น และหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมจะเป็นใช้เกณฑ์กลางสำหรับเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
พัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านพ่อแม่ โรงเรียน และชุมชน
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (กิตติมศักดิ์) และรองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. เสนอแนวคิดต่อกลไกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันที่ใช้การออกแบบนโยบายจากส่วนกลางก่อนจะกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ซึ่งทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางได้รับดอกผลจากนโยบายล่าช้าและไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศไทยยังไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้เท่าเทียมกับเด็กทุกคน
“ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาพร้อมๆ กับแนวคิดกระจายอำนาจ เรามีทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีกระทรวงศึกษาธิการ มีเขตพื้นที่การศึกษา มีศึกษาธิการภาค และระบบรองรับเต็มไปหมด แต่คุณภาพการศึกษายังเหมือนเดิม ทำให้ได้คำตอบว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากระบบใหญ่ได้”
ศ.วุฒิสาร เสนอว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องเริ่มต้นจากหน่วยงานที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด อย่างโรงเรียนและและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดีในการจัดการศึกษาให้มีความเป็นเอกภาพ โดยมุ่งเป้าไปที่การทำให้ความแตกต่างทางคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาแต่ละพื้นที่เหลือช่องว่างต่อกันน้อยที่สุด
ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องทำความเข้าใจอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาการศึกษา ซึ่ง ศ.วุฒิสาร วิเคราะห์ไว้ 5 ประการ คือ
- งบประมาณการศึกษาถูกทุ่มไปที่การผลิตบุคลากรในระบบการศึกษามากกว่าผู้เรียน ในขณะที่ครูผู้สอนยังขาดแคลน ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
- ขาดครูเฉพาะทาง และขาดการพัฒนาศักยภาพครูให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
- ครูมีภาระหนักในงานอื่นที่ไม่ใช่การสอน เช่น งานธุรการ งานประเมิน ทำให้ทุ่มเทเวลาในการสอนได้ไม่เต็มที่
- ประเทศไทยยังติดกับดักเชิงโครงสร้างของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ไม่อาจแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
- นโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (เรียนฟรี 15 ปี) ไม่สอดคล้องกับงบประมาณ ขาดหลักประกันเชิงคุณภาพในแต่ละพื้นที่การศึกษา
หากมองในระดับท้องถิ่น โรงเรียนคือสถานที่ที่สามารถโอบอุ้มและประคับประคองเด็กที่มีมิติความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันไว้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคน จึงควรสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาศักยภาพผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำของเด็กในโรงเรียน และสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา โดย ศ.วุฒิสาร มีข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ 4 ข้อหลัก คือ
- กำหนดวิธีการเรียนรู้และหลักสูตรร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน โดยให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวทางการจัดการเรียนการสอน
- กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทรัพยากรและลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงออกแบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน
- กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ คือ Education for All ให้การศึกษาอย่างทั่วถึง และ All for Education ทำให้พื้นที่ท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียน
- กำหนดเป้าหมายด้านการศึกษาร่วมกัน ในที่นี้คือกำหนดเป้าหมายที่ตอบโจทย์การพัฒนาของพื้นที่ชุมชนผ่านการสร้างมาตฐานการศึกษาของโรงเรียน
ศ.วุฒิสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา (education for equalization) ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาต่อยอดสู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (education for excellence) เช่น ส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนกีฬา โรงเรียนศิลปะ เพื่อสอดรับกับการฝึกฝนทักษะเฉพาะทางของผู้เรียน และเป็นการวางรากฐานการพัฒนาท้องถิ่นในระยะยาว
ส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงความเสี่ยงที่เด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน จะหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด-19 และยังส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ขณะเดียวกันยังพบว่า จำนวนเด็กยากจนสะสมเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคน ในช่วง 3 ปีหลังการระบาดของโควิด-19
การทำงานของ กสศ. ในการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การให้ทุนช่วยเหลือเด็กยากจนเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมโครงการพัฒนาครู สถานศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงานในชุมชน รวมถึงสร้างนวัตกรรมคัดกรองเด็กยากจนเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด โดยกลไกสำคัญในกระบวนการทำงานคือ การเชื่อมโยงการทำงานไปสู่ระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษาจากโควิด-19 และการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน
ดร.ไกรยส ระบุว่า เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดร้ายแรง ทำให้โรงเรียนไม่สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาด้วยการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งถูกตัดขาดจากการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องจากข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ นั่นคือข้อมูลสำคัญที่ทำให้ กสศ. พยายามผลักดันการทำงานผ่านท้องถิ่นมากขึ้น โดยมุ่งจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ร่วมกับกลไกภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนภายในจังหวัด และหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น
องค์ประกอบสำคัญในกระบวนการนี้ เริ่มต้นที่การสร้างกลไกระดับจังหวัด เพื่อผลักดันท้องถิ่นให้จัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกใช้เพื่อออกแบบนวัตกรรมช่วยเหลือและดูแลเด็กให้สอดรับกับปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ ปลายทางของนวัตกรรมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ที่เข้าร่วมกระบวนการทั้งหมด 14 จังหวัด
ดร.ไกรยส ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาคน สังคม และเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่ง กสศ. สนับสนุนให้จัดการศึกษาโดยท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นสามารถเข้าถึงปัญหาได้เฉพาะเจาะจงกว่านโยบายการศึกษาที่กำหนดลงมาจากส่วนกลาง โดยการออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและพาเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่พื้นที่และคนในพื้นที่ทุกเพศทุกวัย
“การศึกษาเชื่อมโยงไปถึงความยากจน การพัฒนาเมือง สิ่งแวดล้อม เราต้องมองโจทย์ให้ไกลกว่าการศึกษา นี่คือการลงทุน ไม่ใช่การสงเคราะห์ ท้องถิ่นแต่ละที่ก็เหมือนกับเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความเสมอภาคจึงไม่ใช่การให้ต้นทุนขนาดเท่ากัน แต่คือการทำให้ทุกคนเอื้อมถึงโอกาสได้”
ดร.ไกรยส ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขวงจรความจนในท้องถิ่น สามารถผลักดันให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ความต้องการของตลาด และพัฒนาให้เด็กเป็นกำลังสำคัญเพื่อกลับมาดูแลชุมชนบ้านเกิดของตนเอง
การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ เริ่มต้นที่ชุมชนและท้องถิ่น
นอกจากการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ กล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ในปัจจุบัน โดยระบุว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยที่สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของเด็ก มีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกยุคผัวผวน (VUCA World) ทำให้การแสวงหาความรู้ในปัจจุบันไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป ทว่าองค์ความรู้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ใหม่อยู่ตลอด สิ่งนี้ส่งผลต่อรูปแบบการเรียนและการประกอบอาชีพที่ต้องสอดรับกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข้อเสนอจากณิชา คือการมุ่งพัฒนาทักษะจำเป็นของโลกสมัยใหม่ ได้แก่ การสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration) การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ผ่านการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยบูรณาการกับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวควรเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ทุกด้าน
ณิชามองเป้าหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ
- พัฒนาเด็กเล็ก สร้างพื้นฐานสำคัญของชีวิตตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา โดยมีแนวทางที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยนำร่องปฏิบัติแล้ว คือ
- ออกแบบนโยบายส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก เช่น โครงการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และโครงการฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และส่งเสริมแม่และเด็กให้มีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม
- จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เด็กและผู้ปกครองสามารถเข้าถึงได้ในชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างพื้นที่ที่น่าสนใจ เช่น
- การสร้างการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี (Montessori) ให้เด็กมีอิสระในการตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปานุราช จังหวัดกระบี่)
- การเรียนรู้ผ่านการเล่น ส่งเสริมให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน และสร้างวินัยเชิงบวก (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดย มูลนิธิยุวพัฒน์)
- สร้างต้นแบบวินัยจราจร สร้างความเข้าใจและสอนเทคนิคการช่วยเหลือตัวเองจากอุบัติเหตุทางถนน (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กป่าสัก จังหวัดลำพูน)
- จัดการเรียนรู้แบบใหม่ในโรงเรียนท้องถิ่น เน้นไปที่การแสวงหาความรู้และสร้างประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน รวมถึงสอดคล้องกับยุคสมัยและความรู้ปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น
- โรงเรียน อบจ.เชียงราย ออกแบบหลักสูตรแผนการเรียน 19 โปรแกรมวิชา ที่ครอบคลุมทั้งการสร้างทักษะด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต
- โรงเรียนผดุงแก้วพิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบหลักสูตรส่งเสริมภาษาอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายราคาย่อมเยา และใช้เทคโนโลยีการศึกษาช่วยจัดการเรียนรู้รายบุคคล
- สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อคนทุกวัย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ในท้องถิ่น จัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่
ณิชายังทิ้งท้ายด้วยว่า “ประเทศไทยจะต้องตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ที่ไม่โฟกัสแค่ในโรงเรียน แต่ต้องคำนึงถึงทุกพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ นี่เป็นความท้าทายของ อปท. ที่จะพาท้องถิ่นไปสู่เป้าหมายการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน”