หยุดวงจรความจนข้ามรุ่น โอบอุ้มการศึกษาเด็กไทยด้วยสวัสดิการทั่วถึง

ท่ามกลางกระแสเลือกตั้ง 2566 หลายพรรคการเมืองล้วนชูนโยบายสวัสดิการกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เงินอุดหนุนเด็กเล็ก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งหลายนโยบายตั้งอยู่บนฐานคิดของระบบสวัสดิการแห่งรัฐที่ครอบคลุมหลายมิติของชีวิต 

คุณูปการสำคัญของนโยบายสวัสดิการด้านสังคมยังมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเมื่อครอบครัวได้รับการโอบอุ้มหรือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย อุปสรรคที่เด็กคนหนึ่งจะถูกพรากไปจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ย่อมลดน้อยลงไปด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กทุกคนอยู่ในระบบการศึกษาตลอดรอดฝั่ง โอกาสในการหารายได้ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ต่อไป  กล่าวคือ สวัสดิการสังคมจะเป็นการตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นในทางหนึ่ง

ทว่าคำถามสำคัญคือ นโยบายสวัสดิการมีความเป็นไปได้กี่มากน้อย ทำได้จริงหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่รัฐมี

“ไม่น่าจะมีเงินพอ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ถ้าให้ทุกคนก็จะอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท และงบส่วนนี้จะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะคนแก่มีจำนวนมากขึ้น”

ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยืนยันเช่นนั้น

“หมายความว่าถ้ารัฐจ่ายเพิ่มขึ้น 1 บาท ยอดขาดดุลก็เพิ่มขึ้น 1 บาท หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอีก 1 บาท ในแง่นี้นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ก็ไม่น่าจะไหว

“ถ้าจะทำระบบสวัสดิการจริงๆ ก็ต้องดูว่าจะลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นได้ยังไง บางพรรคอาจเสนอว่าให้ลดงบกองทัพ หรืออีกวิธีคือขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีที่เก็บจากคนรวย เพราะได้สองเด้ง หนึ่ง-เอาเงินมาช่วยคนจนได้ และสอง-ลดความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งประเทศไทยมีคนรวยแบบกระจุกและจ่ายภาษีน้อยเกินไป”

อ่าน “สมชัย จิตสุชน: ความเป็นไปได้ของสวัสดิการสังคม-การศึกษา หยุดวงจรความจนและความเหลื่อมล้ำ” : https://circleschool.eef.or.th/2023/04/24/interview-somchai-jitsuchon/

เพื่อมองให้เห็นภาพรวมมากขึ้น TDRI ได้จัดทำข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลจากพรรคการเมืองจำนวน 9 พรรค จำนวน 87 นโยบาย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566)

สิ่งที่พบคือ แม้นโยบายส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง แต่อาจสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว เพราะนำมาสู่การสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณมากเกินตัว

ทั้งนี้ จากรายงานของ กสศ. มีเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (2,762 บาทต่อคน/ครัวเรือน) จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ล่างของประเทศ ส่งผลต่อความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งลำพังเพียงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ก็ยังไม่ครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้

ปัญหาทั้งหมดจึงมีลักษณะซ้อนเหลื่อมกันไปมา แต่สิ่งหนึ่งที่ ดร.สมชัย เน้นย้ำก็คือ นโยบายต่างๆ มีความเป็นไปได้หากรัฐจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และหนทางที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทรงประสิทธิภาพก็คือ นโยบายทางการศึกษาที่ควรปรับคุณภาพการศึกษาเท่ากันทั้งประเทศ

อ่าน “งบประมาณการศึกษากระจายไปไหนบ้าง” : https://circleschool.eef.or.th/2023/03/02/ministry-of-education-budget/

ที่มา