ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแทรกซึมทุกมิติของชีวิตเด็กแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเข้าถึงการเรียนหนังสือ นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้ใต้เส้นความยากจนกว่า 2.5 ล้านคน จนทำให้เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
กล่าวได้ว่า เมื่อคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การเลื่อนระดับทางสังคม (social mobility) สิ่งเหล่านี้จะทำให้การส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นหมดไปในที่สุด
หนึ่งในวิธีเพิ่มโอกาสนั้นก็คือ การสร้าง Learning City หรือเมืองแห่งการเรียนรู้ เพราะเมื่อคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ก็จะเพิ่มทางเลือกในชีวิต ตลอดจนเปิดช่องทางการเพิ่มรายได้ให้ตนเองไปโดยปริยาย

แนวคิด Learning City เริ่มขึ้นเมื่อปี 2015 จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับโลก และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ดังกล่าวให้สำเร็จภายในปี 2030
ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการศึกษาอยู่ในเป้าหมายที่ 4 (Sustainable Development Goal 4: SDG4) คือการสร้างหลักประกันเรื่องคุณภาพ ความครอบคลุม และการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning: UIL) จึงจัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) เพื่อช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้


ขณะนี้มีเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 294 เมือง จาก 76 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองสมาชิกเครือข่าย 7 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดพะเยา จังหวัดสุโขทัย และเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยการเป็นสมาชิกเครือข่ายจะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และได้รับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองตามกรอบเมืองแห่งการเรียนรู้ต่อไป
ที่มา